EYESMYTH SESSION IX - นพ.เกริก อัศวเมธา
ถ้าให้ลองนึกถึงสักอาชีพหนึ่งที่มักปรากฏตัวพร้อมกับแว่นตา อาชีพ ‘แพทย์’ น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง
แว่นตากับแพทย์มักเป็นของคู่กัน เวลาไปโรงพยาบาลเราก็มักจะพบคุณหมอใส่แว่นตาเสมอ ไม่เพียงแค่นั้น เวลาดูหนังดูละครหลายๆ เรื่อง คุณหมอในจอก็มักจะใส่แว่นตาราวกับเป็นอวัยวะสำคัญ จนทำให้แว่นตากลายเป็นภาพจำของอาชีพนี้ไปโดยปริยาย
นายแพทย์เกริก อัศวเมธา อายุรแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคติดเชื้อ เป็นอีกหนึ่งคุณหมอที่ใส่แว่นตาเป็นประจำ ปัจจุบันคุณหมอได้ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อตั้ง Glove Clinic (โกลฟ คลินิก) คลินิกที่มุ่งเน้นเรื่องการให้คำแนะนำ การป้องกัน และการรักษาสำหรับเรื่องสุขภาพทางเพศ
และแน่นอน เขาเป็นลูกค้าคนสำคัญของ EYESMYTH ที่เราอยากชวนมาคุยในโปรเจกต์ EYESMYTH SESSION IX
เช้าวันหนึ่งที่กรุงเทพฯ เราเดินทางไปพบคุณหมอเกริกถึงที่พักส่วนตัวกลางเมือง เพื่อสัมผัสถึงตัวตน และพูดคุยกับคุณหมอในประเด็นต่างๆ ไม่เพียงแค่เรื่องแว่นตา แต่ยังรวมถึงชีวิต การทำงาน และโลกในวันที่มีโรคระบาดอย่างไวรัสโควิด-19
ไม่มากไม่น้อย บทสนทนาในครั้งนี้ น่าจะมีประโยชน์กับทุกคน หรืออาจเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆได้ หากคุณมองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่หลังแว่นตาคู่นี้
หมอ (ไม่) เจ็บ
เมื่อนึกถึง ‘คุณหมอ’ สักคน หลายคนอาจนึกภาพถึงหมอทั่วๆไป ที่มากับมาดเคร่งขรึม และท่าทางซีเรียสจริงจัง หากแต่การได้พบกับ ‘คุณหมอเกริก’ ความอารมณ์ดี ครื้นเครง และเป็นกันเองของเขา เปลี่ยนความคิดและภาพจำของเราต่อบุคลากรในอาชีพนี้ไปอย่างมากมาย ความยิ้มแย้มแจ่มใส และท่าทางสบายๆ ถือเป็นเอกลักษณ์เด่นที่ติดตัวเขาตั้งแต่แรกเจอ
คุณหมอเล่าให้ฟังถึงสมัยที่ต้องมองหาทางเลือกในชีวิตว่า ‘โตขึ้นไปอยากเป็นอะไร’ ความที่มีผลการเรียนดี เขาจึงมีเส้นทางหลากหลายว่าจะศึกษาต่อด้านไหน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์
สุดท้ายเขาลงเอยด้วยการเลือกอาชีพ ‘หมอ’ หลังจากได้ไปเข้าค่ายของคณะแพทยศาสตร์ที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงชั้นมัธยมปลาย
“จริงๆ ตอนเด็กไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไร เป็นเด็กเรียนเฉยๆ ก็เลยลองไปเข้าค่ายอยากเป็นหมอตอน ม.4 - ม.5 ที่จุฬาฯ เป็นแคมป์ 4-5 วัน มีรุ่นพี่หมอ นิสิตแพทย์ปี 2 ถึงปี 4 มาเทคแคร์เรา พอมีกิจกรรมก็รู้สึกว่า การเป็นหมอมันไม่เครียดเลย พี่ตลกดี ก็เลยรู้สึกว่ามาทางนี้ดีกว่า”
นอกเหนือจากความสนุก อีกสิ่งที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำมาจนถึงปัจจุบันคือคำพูดสุดเจ๋งของรุ่นพี่ในค่ายว่า “วิศวะมันเป็นงานที่ทำกับเครื่องจักร หรือวิทยาศาสตร์ข้างนอก แต่เราเป็นหมอ เราศึกษาร่างกายมนุษย์ ได้เห็นข้างในของตัวมนุษย์”
หลังจากเบิกเนตรกับคำพูดสุดปลุกเร้า ก็ทำให้เขาตัดสินใจได้เสียที ว่าเขาจะเรียนด้านนี้อย่างเต็มตัว
ในสายตาของคนจำนวนมาก การเรียนแพทย์ขึ้นชื่อว่ามาพร้อมความหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากเป็นคนอื่นอาจรู้สึกเกร็ง และยิ่งต้องผลักดันตัวเองมาก แต่สำหรับคุณหมอเกริก เมื่อได้มาเรียนในสิ่งที่สนใจ เขาจึงไม่ค่อยเครียดกับมันมากเท่าไหร่นัก
“ตอนเด็กๆ เราต้องเป็นเด็กเรียนดีเพื่อให้เพื่อนลอกการบ้าน (หัวเราะ) เป็นเสาหลักของห้อง แต่พอโตขึ้นมันก็ง่ายขึ้น คนเก่งหาได้ทั่วไป เราไม่ต้องพยายามมาก ไม่ต้องเครียดเป็นเด็กหน้าห้องแล้ว อยู่กลางๆห้อง ชอบเล่น กิน เที่ยวมากกว่า มันสามารถมีชีวิตได้ หมอเลยไม่ได้เครียดอย่างที่คิดตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เรารู้สึกว่ามันดี ได้ทำงานที่ดูแลคนอื่น ขณะเดียวกันก็ยังสามารถมีมุมของตัวเองได้ด้วย”
คุณหมอยังยกตัวอย่างอีกว่า หมอรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันยิ่งเครียดน้อยกว่าเดิม “น้องๆ รุ่นใหม่มีแต่เน็ตไอดอลเต็มไปหมด” เขาหัวเราะ “มันไม่ได้เครียดขนาดนั้นแล้ว เป็นอาชีพที่เขาก็พยายามทำให้ดูว่า หมอก็เป็นคนเหมือนกันนะ”
นักรบเสื้อกาวน์ VS โรคติดเชื้อตัวร้าย
สำหรับสายงานที่คุณหมอเกริกเชี่ยวชาญ คือการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มันอาจฟังดูน่าหวาดวิตก แต่คุณหมอยืนยันเหมือนเดิมว่า ในสนามจริงมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น
คุณหมอเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้หลายคนกลัวอาจเป็นเพราะความเครียด และความกลัวที่ต้องไปรับผิดชอบชีวิตคนอื่น “ผมว่ามันน่าจะเกิดจากความกลัวที่เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจเคสคนไข้ ไม่เคยเห็นเคสแบบนี้มาก่อน ก็น่าจะเหมือนกับคนทุกๆ อาชีพ ถ้าไม่เข้าใจแล้วทำครั้งแรก มันจะมีความเกร็ง แต่พอมีประสบการณ์ มีคนสอนมาบ้าง เคยอ่านเองแล้วเจอตรงกับที่อ่านมาก็จะไม่ตื่นตระหนก”
สาเหตุที่คุณหมอเลือกเป็นอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ ต้องย้อนกลับไปสมัยยังเป็นเป็นนักเรียนแพทย์ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โรคเอดส์กำลังแพร่ระบาดหนักพอดี ทำให้เขาตระหนักว่า ในเมืองไทยควรต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ใส่ใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
“สมัยที่ผมเรียนเป็นช่วงที่เชื้อ HIV กำลังมา มีคนไข้ป่วยเยอะ แย่เยอะ ตายเยอะ สังคมก็จะรังเกียจหน่อยๆ เรารู้สึกว่าคนกลุ่มนี้น่าสงสารจัง แล้วพอเราได้ไปรักษา ได้อยู่ใต้อาจารย์แพทย์ที่ค่อนข้างเก่งเรื่องพวกนี้พอสมควร เราก็รู้สึกว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีความหวังนะ”
คุณหมอเกริกขยายความว่ามีความหวังในที่นี้ คือความหวังว่ายิ่งรักษาก็จะมีโอกาสหาย หรืออยู่ในสภาวะที่ดีขึ้นกว่าเดิม และทุกครั้งที่เขาเจอกรณีแบบนี้จะรู้สึกดีใจมาก “เราเห็นคนไข้ตั้งแต่ตอนที่แย่มากๆ พอรักษาปุ๊บ 1-2 เดือนสามารถกลับมาเดินได้ปกติ อีก 1 ปีก็กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ มันเป็นสิ่งที่ทำแล้วเห็นผลดี”
ในช่วง 10 ปีหลัง โรคเอดส์ไม่ใช่โรคติดเชื้อที่น่ากลัวที่สุดอีกต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีดีขึ้น วิทยาการก้าวไกลขึ้น ผู้คนมีทางเลือก และมีวิธีป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
“ถ้ามีความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV เขาสามารถกินยาต้านไวรัสป้องกันไม่ให้ติดได้ ทีมนักวิจัยก็เก่ง ออกทางเลือกว่าถ้ากินยาเพร็พ (PrEP - Pre-Exposure Prophylaxis) ไปเรื่อยๆ จะไม่เป็นไร เหมือนกับกินยาคุมแล้วจะไม่ท้อง เป็นคอนเซปต์เดียวกัน พอคนใช้ถุงยางอนามัย กินยาต้านป้องกันมากขึ้น ความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV ก็ลดลง แต่ก็มีโอกาสรับเชื้อตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกป้องกันด้วยยาเพร็พมาแทนที่ เช่น ซิฟิลิส เป็นโรคที่ไม่ค่อยมีอาการ บางทีถ้าไม่ตรวจก็ไม่รู้ว่าเป็นรึเปล่า ต้องเจาะเลือดถึงจะรู้ว่าคนไข้เป็นไหม
อีกอันคือ หูด ที่ความเสี่ยงคือแค่การสัมผัส มันก็เลยติดง่าย แค่จับมือกันก็สามารถติดได้แล้วอย่างโควิด-19 มันติดด้วยการไอจามใส่กัน มันก็แพร่คนละช่องทาง”
Glove Clinic คลินิกแสนอบอุ่นสำหรับงานบริการสุขภาพทางเพศ
เมื่อเลือกเดินเส้นทางการเป็นนายแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศ เป้าหมายในอาชีพของคุณหมอเกริกคือการผลักดันให้การรักษาสุขภาพทางเพศ เป็นเรื่องสำคัญในประเทศไทย ดังนั้นเขาและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงก่อตั้งคลินิกที่ชื่อว่า Glove Clinic (โกลฟ คลินิก) เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยและสร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้
คุณหมอเกริกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานนี้ว่า “เราเคยมีประสบการณ์ที่ต่างประเทศ เคยเห็นคลินิกทางเลือกที่ดีสำหรับคนทุกเพศ ได้เห็นว่าสุขภาพทางเพศของทุกเพศควรจะเป็นอย่างไร ที่เห็นมาในกรุงเทพฯมีหลายที่ที่ทำอยู่ แต่คิดว่ายังไม่ถูกใจหรือสมบูรณ์แบบอย่างที่อยากให้เป็น”
ดังที่กล่าวไปว่า Glove Clinic เป็นคลินิกเฉพาะด้าน เน้นดูแลรักษาและให้คำแนะนำเรื่องโรคติดต่อทางเพศเป็นหลัก แต่ไม่เพียงแค่นั้น ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับการรักษาโรคอื่นๆ ด้วย การออกแบบของคลินิกเน้นการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่รู้สึกหวาดกลัว
“ในเมื่อเราเน้นเรื่องสุขภาพทางเพศเป็นหลัก ฉะนั้นจะมีการเจาะเลือดคัดกรองหาความเสี่ยง หรือว่าการป้องกันเมื่อเกิดความเสี่ยงแล้ว เช่น ให้ยาต้านฉุกเฉิน หรือให้กินยาเพร็พ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เป็นโรคจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อะไรก็แล้วแต่ก็จะรักษาให้ นอกจากนี้จะมีบริการให้ฉีดวัคซีนหรือตรวจทั่วไป เพื่อดูแลสุขภาพของแต่ละท่านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
“เราอยากให้มันเป็นสังคมที่เหมือนเป็นครอบครัว อยากให้คนไข้ที่อยู่กับเรา หรือผู้ใช้บริการไม่ได้มองแค่เรื่อง Sexual Health หรือเรื่องสุขภาพทางเพศอย่างเดียว เราอยากให้มันครบวงจร อยากให้เขามีสุขภาพที่ดีใน 10-20 ปีจากนี้ ฉะนั้นอยากให้มันเป็นการแพทย์แบบองค์รวมครับ”
อีกสิ่งที่คุณหมอเกริกเน้นย้ำเสมอคือ คนเป็นหมอควรต้องเข้าใจความต้องการของคนไข้ ต้องเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร แล้วปรับวิธีการรักษาให้แต่ละคนได้สิ่งที่เขาต้องการ และนั่นคือคุณสมบัติของหมอที่ดี
“สมมติว่ามีคนไข้ 5-10 คน เราอาจรักษาไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะว่าความต้องการหรือข้อจำกัดต่างๆ ในแต่ละบุคคลไม่เท่ากันเช่น ฐานะหรือไลฟ์สไตล์ ต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับคนไข้แต่ละคน ในการรักษาโรคเดียวกันในแต่ละเคสก็คงต้องต่างกันเพราะเราได้โจทย์มาไม่เหมือนกัน”
โรค (และโลก) ที่เปลี่ยนไป
เวลาผ่านไป วิถีชีวิตเปลี่ยน โรคก็เปลี่ยน โรคเอดส์อาจไม่น่ากลัวมากเท่าเมื่อก่อน แต่จะมีโรคอื่นมาช่วงชิงตำแหน่งนั้นไปแทน โดยปัจจุบันโรคนั้นคือโรคระบาดอย่างไวรัสโควิด-19 ด้วยสายงานและความสนใจ เมื่อศึกษาเยอะเข้า คุณหมอเกริกพบว่าจริงๆ แล้วโรคนี้ไม่น่ากลัวเหมือนอย่างที่หลายคนกำลังวิตก
“ตัวโรคมันไม่น่ากลัวเพราะถ้าดูความรุนแรงจากหลายๆ ที่ โอกาสที่คนติดเชื้อเป็นโควิดรุนแรงขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรและความเสี่ยงของกลุ่มประชากรเหล่านั้น ถ้าไม่มีโรคประจำตัว โอกาสจะเป็นแล้วเป็นหนักแทบไม่มี โอกาสเสียชีวิตหรือเป็นเยอะจะต้องมีโรคประจำตัว หรือตรวจช้า ได้รับการวินิจฉัยช้า”
อย่างไรก็ตาม การที่โรคนี้สร้างความปวดหัวให้คนทั่วโลกก็เพราะผู้ป่วยบางคน เมื่อเป็นแล้วจะไม่แสดงอาการ เช่นเดียวกับโรคหูด เกิดเป็นความเสี่ยงว่าคนกลุ่มนี้ก็จะไปแพร่ให้คนอื่นๆ ได้ หลายคนไม่ได้กลัวเป็นเอง แต่กลัวว่าจะเอาไปให้ที่บ้านมากกว่า
จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันหรือต้านโควิด-19 ออกมาเป็นผลสำเร็จ คุณหมอย้ำว่าเรามีอาวุธสำคัญที่สุดอยู่ในมือ ไม่เพียงแค่การเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ยังอยู่ที่การใส่หน้ากากอนามัย
“หน้ากากเป็นอาวุธที่สำคัญในการป้องกัน หน้ากากสำคัญกว่าการล้างมือเยอะมาก ถ้าเรามีวินัยในการใส่หน้ากากมาก การแพร่กระจายในประเทศจะน้อยลง สาเหตุที่มันเละมากในต่างประเทศ ในอเมริกา หรือในยุโรป เพราะวัฒนธรรมที่นั่นเขาไม่ใส่หน้ากากกัน”
ยุคสมัยเปลี่ยน แว่นก็เปลี่ยน
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ‘แว่นตา’ เปรียบได้กับอวัยวะอีกอย่างของคนเป็นหมอ หากใครเคยดูหนัง ดูซีรีส์หรือละครแนวการแพทย์ จะต้องพบเห็นตัวละครหมออย่างน้อย 1 คนใส่แว่นเสมอ จนอาจเรียกได้ว่ากลายเป็นภาพจำของคุณหมอไปแล้ว
แม้กระทั่งคุณหมอเกริกเอง ก็เป็นคนที่ใส่แว่นเป็นประจำ
คุณหมอเล่าให้ฟังว่า เขาเองใส่แว่นมานานแล้ว และไม่ค่อยชอบการใส่คอนแท็คเลนส์เสียเท่าไหร่ เมื่อรู้ว่าจะต้องให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ก็ย้อนกลับไปดูรูปแว่นเก่าๆ ที่ตัวเองเก็บไว้ด้วย และค้นพบความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
“เหมือนแว่นที่เราใส่เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วกับช่วง 1-2 ปีนี้ดีไซน์มันเปลี่ยนหมดเลย ไหนจะเรื่องของความชอบที่เปลี่ยน รวมถึงแฟชั่นที่เปลี่ยน”
ในทัศนะของคุณหมออารมณ์ดี แว่นถือเป็นสิ่งของแฟชั่น การใส่แว่นคือการบ่งบอกไลฟ์สไตล์ บ่งบอกบุคลิกของตัวเอง ซึ่งในระยะหลังๆ แว่นแนวที่ชอบจะออกแนววินเทจเป็นหลัก เป็นแว่นแบบเรียบง่าย สามารถใส่ได้เรื่อยๆ ทั้งวัน
นอกจากเป็นสินค้าแฟชั่น แว่นยังถือเป็นอุปกรณ์ทำงานของหมอด้วยเช่นกัน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความมีภูมิฐาน และช่วยให้หมอดูมีความรู้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการประกอบสร้างของสื่อ จากหนัง ซีรีส์ หรือละครหลายๆ เรื่อง
อย่างไรก็ตาม ผลจากจากการประกอบสร้างของสื่อก็มีสิ่งที่ขัดใจคุณหมออยู่ด้วยเช่นกัน สิ่งที่คุณหมอพบเจอเป็นประจำในหนังหรือซีรี่ส์แทบทุกเรื่องนั่นก็คือ
...
“แว่นตาหมอในซีรีส์ไม่ค่อยสวยอะ” เขาหัวเราะลั่น “มันดูหม๊อหมอ (เสียงสูง) เป็นแว่นตาธรรมดา เนิร์ดๆ น่าเบื่อ ดูเป็นคนที่ไม่มีสไตล์ ถ้าเราเปลี่ยนได้ ก็คงไปเปลี่ยนให้เขาแล้ว” เขาหัวเราะอีกครั้ง
OG x Oliver Goldsmith และ GLCO แว่นตาประจำตัวคุณหมอเกริก
คุณหมอเกริกมักเลือกใส่แว่นตาจากแบรนด์ OG x Oliver Goldsmith ซึ่งเขาเองก็เพิ่งมารู้จักที่ร้าน EYESMYTH นี่เอง เลือกเพราะความสวย รวมถึงเพื่อนสายแฟชั่นก็แนะนำว่า OG เป็นแว่นที่มีตำนาน ทำให้รู้สึกว่าเป็นแว่นที่มีเรื่องราว เป็นแว่นตาที่เป็นแว่นตาจริงๆ
“OG ดูวินเทจ มีความเก่าแก่ในตัวแบรนด์ มี heritage ไม่หวือหวาเกินไป เพราะมีความเรียบง่าย และใส่ได้ทั้งวัน” เขากล่าว “เป็นแว่นที่สวยเงียบๆ” เขาหัวเราะปิดท้าย
หลังจบการสนทนา เราหวังว่าจะได้เห็นตัวละครหมอใส่แว่นเฟี้ยวๆ มากขึ้นในอนาคต และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากเป็นหมอเท่ๆ เพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้
ทศพล เหลืองศุภภรณ์ - Team Head
สหธร เพชรวิโรจน์ชัย - Interviewer
รณกร เจริญกิตติวุฒ - Photographer
ธนาภิวัฒน์ ปิยวัจน์เดชา - Video & Editor